ข้อมูลพื้นฐาน
สถานีตำรวจภูธรเกษตรวิสัย

วิสัยทัศน์ ผู้กำกับการ

"รู้หน้าที่ ซื่อสัตย์ สามัคคี มีคุณธรรม"

ประวัติ

ด้วยความที่มีอาณาเขตกว้างและเก่าแก่มานาน มีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จากคำสืบทราบเล่าต่อกันมา อำเภอเกษตรวิสัย เดิมชื่อ เมืองเกษ มีพระเกษตราธิไชย (หง้า) มีตำแหน่งเป็นอุปฮาด เข้าใจว่าเป็นอุปราช เป็นผู้ก่อตั้งเมืองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่บ้านดอนเสาโฮง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอพนมไพร) แต่พระเกษตราธิราช (หง้า) ผู้รับราชโองการเห็นว่า บ้านดอนส้มโฮงอยู่ในทำเลไม่เหมาะสม จึงขอพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนที่ตั้งเมืองใหม่ จากบ้านดอนส้มโฮงมาตั้งที่บ้านกู่กาโดน ซึ่งสมัยนั้นอยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ เพราะเห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสม มีความอุดมสมบูรณ์ดี และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขนานนามว่า เมืองเกษ เชื่อกันว่า ที่ได้ชื่อว่าเมืองเกษ เพราะดินแดนแห่งนี้มีดอกเกษเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร ถึงกับมีคำกล่าวขานสืบต่อกันมาว่า “ข้อยอยู่ก้ำเมืองเกษคำน้ำชุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข่แก่งหาง ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น จักจั่นฮ้องคือฆ้องลั่นยาม” นั่นคือเมืองเกษแห่งทุ่งกุลาร้องไห้

ต่อมาปีพุทธศักราช 2358 เมืองสุวรรณภูมิได้ยกฐานะเป็นอำเภอเมืองเกษ จึงได้แยกการปกครองออกมาและยกฐานะเป็นอำเภอเรียกว่า อำเภอหนองแวง ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อให้พ้องกับที่ตั้งของตัวอำเภอ ในปี พ.ศ.2489 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอหนองแวงเป็นอำเภอเกษตรวิสัย จนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของ สภ.เกษตรวิสัย แรกเริ่มมีตำรวจจาก กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางออกตรวจสืบสวนปราบปรามโจรผู้ร้ายเป็นบางครั้ง จนปี พ.ศ. 2463 ทางกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดส่งข้าราชการตำรวจปราบปรามอาชญากรรมพร้อมทำการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจไปดัวย โดยส่งสิบตำรวจเอกหนูจันทร์, สิบตำรวจโทธิสาฯ พร้อมด้วยข้าราชการตำรวจอีก รวม 8 นาย และสิบตำรวจเอกหนูจันทร์ฯ เป็นช่างก่อสร้างได้นำข้าราชการตำรวจที่มาประจำออกเดินทางไปตัดไม้และทำการเลื่อยเพื่อมาก่อสร้าง ก่อนทำการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจเสร็จ ได้พักอาศัยอยู่ที่ศาลาที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดยกั้นห้อง จำนวน 2 ห้อง ใช้ไม้ไผ่จักสานเป็นฝากั้น ได้ทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการอยู่นานเป็นเวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จ โดยสร้างเป็นรูปปั้นหยาเรือนไม้ 2 ชั้น หลังคามุงด้วยสังกะสี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนข้างเคียง ทำการก่อสร้าง โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด

เมื่อทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการเสร็จแล้ว ก็ใช้ชุดสายตรวจชุดเดิมตรวจสืบสวนปราบปรามต่อไปและยังไม่เปลี่ยนแปลงกำลัง จวบจนถึงปี พ.ศ.2472 ทางกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้แต่งตั้งข้าราชการตำรวจมาประจำในตำแหน่งหัวหน้าสถานีในการออกตรวจ ในระหว่างการแต่งตั้งหัวหน้าสถานี ได้จัดการออกตรวจเป็นชุดๆ ละ 3 นาย ผลัดละ 15 วัน กำลังที่มาประจำในขณะนั้นยังไม่มาก ยังมีกำลังประมาณ 11 นาย โดยให้ออกตรวจชุดละ 1 – 2 ตำบลเท่านั้น

การรับเงินเดือนประจำเดือน จะมีข้าราชการตำรวจจากจังหวัดยศร้อยตำรวจตรี นำเงินเดือนมาจ่ายให้ราวกลางเดือน ราวปี พ.ศ.2494 ได้รับวิทยุรับส่ง ไอ ซี เอ มาประจำสถานีในการติดต่อกับทางจังหวัด การติดต่อต้องติดต่อเป็นเวลา เพราะในขณะนั้นอำเภอยังไม่มีไฟฟ้าใช้จะต้องใช้เครื่องปั่นไฟในการติดต่อกับทางจังหวัด
ปี พ.ศ.2501 ได้รับรถยนต์เพื่อใช้ในการเดินทางติดต่อกับทางจังหวัดได้รวดเร็วขึ้น